หลายคนอาจจะรู้สึกว่าสเตนเลสชนิดเฟอร์ริติกเป็นสเตนเลสเทียม เนื่องจากว่ามันมีสมบัติความเป็นแม่เหล็กเหมือนกับเหล็กทั่วไป หารู้ไม่ว่านี่คือจุดเด่นหนึ่งของสเตนเลส มีให้เลือกทั้งชนิดแม่เหล็กดูดติดกับชนิดแม่เหล็กดูดไม่ติด ซึ่งหาไม่ได้ในเหล็กทั่วไป โดยความเป็นแม่เหล็กนี้แท้ที่จริงขึ้นกับโครงสร้างอะตอมของโลหะ และโครงสร้างอะตอมก็ไม่มีผลต่อสมบัติต้านทานการกัดกร่อน หากแต่สมบัติต้านทานการกัดกร่อนขึ้นกับส่วนประกอบทางเคมี โดยเฉพาะธาตุโครเมียมเป็นสำคัญ
จุดเด่น 7 อย่างที่คุณควรใช้สเตนเลสเฟอร์ริติก
แม่เหล็กดูดติด ด้วยโครงสร้างอะตอมเฉพาะของเฟอร์ริติกที่ทำให้สเตนเลสชนิดนี้พิเศษกว่าสเตนเลสชนิดอื่น คือแม่เหล็กสามารถดูดติดได้เช่นเดียวกับเหล็ก และด้วยสมบัตินี้เช่นกันที่ทำให้ผลิตภัณฑ์บางชนิดต้องทำจาก สเตนเลสกลุ่มนี้เท่านั้น เช่น คุณคงไม่สามารถนำประกาศติดด้วยแถบแม่เหล็กไปติดบนผนังลิฟท์ที่ทำจากออสเทนนิติกได้
รูปร่างคงที่ ด้วยเฟอร์ริติกมีคุณสมบัติการขยายตัวที่คุณภูมิสูงน้อยกว่าออสเทนนิติก ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เฟอร์ริติกจึงขยายตัวได้น้อยกว่าออสเทนนิติก จึงรักษาสภาพสัดส่วนเดิมได้ดีกว่านั่นเอง
ทนต่อความร้อนสูง การใช้งานที่อุณหภูมิสูง สิ่งที่ต้องระวังก็คือการเกิดออกไซด์ ซึ่งเฟอร์ริติกมีสมบัติการทนต่อการเกิดออกไซด์ได้ดีกว่าออสเทนนิติก และออกไซด์ที่เกิดจะบางและไม่หลุดร่อนง่ายเหมือนออสเทนนิติก
นำความร้อนได้ดีเยี่ยม แน่นอนหากคุณนำหม้อหุงต้มที่ทำจากเฟอร์ริติกไปตั้งไฟพร้อมกับหม้อที่ทำจากออสเทนนิติก คุณจะพบว่าหม้อที่ทำจากเฟอร์ริติกน้ำจะเดือดก่อน นั่นเป็นเพราะว่า เฟอร์ริติกมีสมบัติการนำความร้อนได้ดีกว่าออสเทนนิติกนั่นเอง จึงเหมาะทำผลิตภัณฑ์ในงานที่ต้องการถ่ายเทความร้อน
แปรรูปได้ง่าย เมื่อคุณจะนำไปตัดหรือแปรรูป เฟอร์ริติกเป็นเกรดที่ได้เปรียบเนื่องจากมีความนุ่มนวลกว่าชนิดออสเตนิติก ตัดหรือแปรรูปได้ง่าย จึงหาเครื่องตัดหรือเครื่องจักรได้ง่ายกว่าออสเตนิติกที่ต้องใช้เครื่องตัดและเครื่องจักรชนิดพิเศษ ใช้กำลังมากกว่าและหายากกว่า
ราคาต่ำและเสถียร ข้อได้เปรียบที่ชัดเจนที่สุดคือเฟอร์ริติกมีราคาต่ำกว่าออสเทนนิติกอย่างมาก กว่าครึ่งต่อครึ่ง แค่นี้ยังไม่พอ เฟอร์ริติกยังไม่ได้มีองค์ประกอบของธาตุนิกเกิลเป็นส่วนผสมหลัก ดังนั้นการขึ้นลงของราคานิกเกิลที่ส่งผลทำให้ราคาออสเทนนิติกปั่นป่วน จึงไม่กระทบต่อเฟอร์ริติก ส่งผลดีต่อการบริหารสต๊อกสินค้า การรับออร์เดอร์ล่วงหน้าได้ทีละมากๆได้โดยไม่มีความเสี่ยงด้านราคา
ใช้งานได้หลากหลาย การเลือกใช้เฟอร์ริติกเกรดต่างๆให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หรืองานของตนเองอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะเฟอร์ริติกสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ชิ้นงานทั่วไปในบ้านจนถึงเรือเดินสมุทร งานที่ต้องการขึ้นรูป งานที่ต้องการเชื่อม งานที่ต้องทนต่อการกัดกร่อนสูง และงานที่ต้องใช้ในสภาพความร้อนสูง ซึ่งมีให้เลือกใช้ได้ทุกรูปแบบ เพียงแต่ผู้ใช้ต้องศึกษา ก็จะเข้าใจว่าแต่ละงานควรเลือกใช้เฟอร์ริติกกลุ่มไหนเพื่อให้เหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุด
เฟอร์ริติกแยกได้ 5 กลุ่มตามสมบัติการใช้งาน
1. กลุ่มสามัญประจำบ้าน มียอดการใช้สูงสุดกว่า 48 % เป็นอันดับหนึ่งของยอดการใช้เฟอร์ริติกทั้งหมด แน่นอนจะเป็นชนิดไหนไม่ได้นอกจาก 420 429 429J1 430 และ 440 ที่เรามักคุ้นกันดี ซึ่งมีโครเมียมเป็นองค์ประกอบ 14-18 % ดังนั้นจึงมีความต้านทานการกัดกร่อนได้ดี ขึ้นรูปได้ดี และใกล้เคียงกับออสเทนนิติก 304 จึงสามารถนำเฟอร์ริติกกลุ่มนี้มาใช้ทดแทนเกรด 304 ได้อย่างหลากหลายได้แก่ เครื่องครัว ถังปั่นเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กรอบประตูหน้าต่าง อ่างล้างหน้า ประดับยนต์ และอื่นๆอีกมากมาย
2. กลุ่มประหยัด มียอดการใช้งานเป็นอันดับที่ 2 ประมาณ 30 % ของตลาดเฟอร์ริติก กลุ่มนี้จะมีองค์ประกอบของโครเมียมต่ำสุด ประมาณ 10-14% ราคาจึงต่ำสุดด้วย ได้แก่ 403 405 409L 410L และ 420J2 ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเฟอร์ริติกกลุ่มนี้จึงต้องใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีหรือมีการกัดกร่อนน้อย หรือประเภทผลิตภัณฑ์ที่ยอมรับได้หากเกิดสนิมขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นสเตนเลสกลุ่มนี้จึงนิยมนำมาทำระบบท่อไอเสียรถยนต์ ท่อพักเสียง ตู้เก็บสินค้า รถโดยสาร รถพ่วง รถไฟ และ กรอบจอภาพ
3. กลุ่มสารพัดช่าง ในกลุ่ม 430 แม้จะใช้งานได้ใกล้เคียง 304 แต่เรื่องการเชื่อมและการขึ้นรูปยังด้อยกว่า ดังนั้นเฟอร์ริติกเองจึงได้พัฒนาเฟอร์ริติกกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้มีคุณสมบัติการเชื่อมและการขึ้นรูปได้ดีไม่แพ้เกรด 304 เลยทีเดียว มีองค์ประกอบหลักโครเมี่ยม 16-20% กับธาตุไททาเนียมหรือไนโอเบียมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นเฟอร์ริติกที่เสถียร อันได้แก่ 430Ti 430LX 430J1L 439 และ 441 ดังนั้นจึงนิยมนำมาทำชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับงานเชื่อมและขึ้นรูป ตัวอย่างการใช้งานได้แก่ อ่างล้างจาน ท่อแลกเปลี่ยนความร้อน ระบบท่อไอเสีย ถังปั่นเครื่องซักผ้าแบบเชื่อม ผนังตกแต่งภายใน เฟอร์ริติกกลุ่มนี้มียอดการใช้ประมาณ 13 % ของตลาดโดยรวม จึงอันดับได้เป็นที่ 3 ของเฟอร์ริติกที่นิยมใช้กัน
4. กลุ่มทนร้อนทนกรด หากพูดถึงออสเทนนิติก พระเอกที่เด่นเรื่องนี้คือ 316L แต่เฟอร์ริติกก็มีเช่นกัน ได้แก่เกรด 434 436 436J1L และ 444 เนื่องจากเฟอร์ริติกกลุ่มนี้ประกอบด้วย โครเมียม 16-20% กับธาตุโมลิบดีนัมประมาณ 0.75-2.5 % ซึ่งมีสมบัติการต้านทานการกัดกร่อนเทียบเท่า 316L อีกทั้งธาตุโมลิบดีนัมยังเพิ่มความแข็งแรงที่อุณหภูมิสูง ดังนั้นจึงนิยมนำมาทำชิ้นงานที่ทนการกัดกร่อนและงานที่ใช้อุณหภูมิสูง เช่น ถังใส่น้ำร้อน ถังต้มน้ำ ระบบท่อไอเสีย กาต้มน้ำ เครื่องไมโครเวฟ และผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ใช้ในพื้นที่เปิดได้ดีเยี่ยม โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวม 7% ของเฟอร์ริติก
5. กลุ่มไฮโครม กลุ่มนี้ยังมีใช้กันน้อยประมาณ 2 % ของตลาดเฟอร์ริติก กลุ่มที่มีผู้ใช้น้อยที่สุดนี้ ประกอบด้วยโครเมียมสูง 21-30% กับธาตุโมลิบดีเนียมเป็นส่วนสำคัญ ได้แก่เกรด 443 445 446 447 และ 448 ในตลาดมักเรียกกลุ่มนี้ว่าพวกไฮโครม หรือพวกที่มีโครมเมียมสูงนั่นเอง เฟอร์ริติกกลุ่มนี้มีสมบัติทนการกัดกร่อนเทียบเท่ากับ 317LN ดังนั้นจึงนิยมนำมาทำพวกงานที่ทนการกัดกร่อนสูงยิ่ง เช่น ผลิตภัณฑ์บนเรือสมุทร ชายฝั่งทะเล ยิ่ง 447 และ 448 ที่มีโครเมียมผสมเกือบ 30% และโมลิบดีนัมร่วม 4% จึงมีสมบัติต้านทานการกัดกร่อนในน้ำทะเลเทียบเท่าโลหะไททาเนียมทีเดียว
จากสมบัติที่โดดเด่นทั้ง 7 อย่าง และการแบ่งกลุ่มการใช้งานทั้ง 5 ลักษณะของสเตนเลสกลุ่มเฟอร์ริติก หากวันนี้คุณพบโลหะที่แม่เหล็กดูดติด พื้นผิวแวววาว แข็งแรง คุณสันนิษฐานได้เลยว่าน่าจะเป็นสเตนเลส เฟอร์ริติก กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และหากคุณเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง นั่นย่อมหมายความว่าคุณกำลังใช้ของเป็น และที่สำคัญมันคุ้มค่าคุ้มราคากว่าสเตนเลส ออสเทนนิติกมากมายนัก