สเตนเลสรีดเย็น มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Cold rolled stainless steel” แล้วความหมายคืออะไร? หากตอบแบบทุบกำปั้นก็อาจตอบว่าหมายถึง สเตนเลสที่ผ่านการรีดเย็นมาแล้ว ตอบแบบนี้คิดว่า คงไม่รู้เรื่องต่อไป ดังนั้น การจะอธิบายคำว่า สเตนเลสรีดเย็นคืออะไรเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจนั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกระบวนการผลิตสเตนเลสโดยภาพรวมก่อน รวมถึงคำศัพท์เฉพาะบางคำที่ต้องทำความเข้าใจด้วย จากนั้นผู้อ่านก็จะค่อยๆ เข้าใจความหมายของคำว่า สเตนเลสรีดเย็น อย่างถ่องแท้ด้วยตนเอง
ในกระบวนการผลิตสเตนเลสนั้น เริ่มต้นจากการนำแร่ธาตุและเศษสเตนเลส ไปหลอมในเตาหลอม ขบวนการนี้เรียกว่า ขบวนการหลอมโลหะ (Melting) ซึ่งจะมีการใช้พลังงานความร้อนเผาจนกระทั่งแร่ธาตุและเศษสเตนเลสหลอมเป็นของเหลว ขณะเดียวกันก็ทำการปรับปรุงส่วนผสมทางเคมี ให้ได้ตามที่ต้องการ อะไรขาดไปก็ใส่เข้าไป อะไรเกินไปก็หาวิธีกำจัดออกไป คอยทำการตรวจวัดค่าจนได้ส่วนผสมเคมีดังที่ต้องการก็เป็นอันเสร็จสิ้นในกระบวนการนี้
ขบวนการถัดจากกระบวนการหลอม (Melting) คือกระบวนการหล่อ (Casting) คือการนำน้ำโลหะที่มีสวนผสมตามที่ต้องการแล้วจากกระบวนการหลอมในสภาพของเหลวไปทำให้เย็นตัวลงจนกลางเป็นของแข็ง ซึ่งกระบวนการทำให้ของเหลวกลายเป็นของแข็งนั้น รูปร่างของแข็งที่ทำออกมาอาจทำเป็นลักษณะแท่งหรือเป็นเส้นก็ได้ แต่สำหรับสเตนเลสที่จะนำไปใช้เป็นวัสดุดิบในกระบวนการรีดเย็นนั้น ขนาดรูปร่างของโลหะหล่อจนเป็นของแข็งแล้วจะมีขนาดความหนา 165-210 มม. กว้างประมาณ 1550 มม. เราเรียกแท่งของแข็งนี้ว่า สแลบ (Slab) ดังนั้น สแลบก็คือแท่งสเตนเลสหล่อซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในกระบวนการถัดไป
เมื่อสเตนเลสผ่านการหล่อจนเป็นแท่งสแลบแล้ว กระบวนถัดไปก็คือการนำแท่งสแลบเข้าสู่กระบวนการรีดร้อน (Hot rolling) เพื่อลดขนาดความหนาและควบคุมความกว้างตามที่ต้องการ คำถามก็คือการรีดร้อนเป็นอย่างไร ความหมายคืออะไร ในทางวิชาการขั้นตอนการรีดร้อนก็คือ ขั้นตอนการรีดโลหะขณะที่อุณหภูมิของเนื้อโลหะ สูงกว่าอุณหภูมิของการเกิดผลึกใหม่ โลหะทุกชนิดจะมีอุณหภูมินี้ สำหรับสเตนเลส ชนิด 304 อุณหภูมิของการเกิดผลึกใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 1050 C ส่วนสเตนเลสชนิด 430 ประมาณ 860 C ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะทำการรีดร้อน จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องนำสเตนเลสไปทำให้ร้อนจนเนื้อสเตนเลสมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิการเกิดผลึกใหม่ก่อน (recrystallization temperature) จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการรีดเพื่อลดขนาดความหนาและความกว้างตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันความยาวก็จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของความหนาและความกว้างที่ลดลงด้วย เสร็จแล้วก็ทำการม้วนเก็บในรูปเหล็กแผ่นม้วน (Black coil) ซึ่งสภาพของสเตนเลสแผ่นม้วนนี้จะมีลักษณะผิวสีดำที่เกิดจากสเกลที่เกิดขึ้นขณะอุณหภูมิสูง อาจมีคำถามว่าแล้วทำไมต้องรีดที่อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิการเกิดผลึกใหม่ด้วย เหตุผลก็คือ ที่อุณหภูมินี้โลหะมีโครงสร้างที่รีดง่าย การเรียงตัวของโครงสร้างไม่เสียหาย และคุณสมบัติเชิงกลไม่เปลี่ยนแปลงขณะทำการรีด
ทีนี้มาถึงหัวใจของเรื่องราวแล้ว ก็คือขบวนการรีดเย็น ซึ่งเป็นกระบวนการถัดจากรีดร้อนนั่นเอง การรีดเย็น (Cold rolling) ในทางวิชาการคือการรีดโลหะที่อุณหภูมิ ต่ำกว่าอุณหภูมิของการเกิดผลึกใหม่ ดังนั้นการนำสเตนเลสไปรีดเย็น จึงไม่มีการให้ความร้อนแก่โลหะก่อนที่จะทำการรีด แต่ในความเป็นจริง ขณะทำการรีดจะเกิดความร้อนขึ้น อันเนื่องจากการเปลี่ยนรูปของพลังงานกล เป็นพลังงานความร้อน พลังงานกลก็คือ แรงที่ลูกรีดกระทำต่อสเตนเลส เพื่อลดขนาดความหนา ตามที่ต้องการนั่นเอง ขณะที่ลูกรีดกดลดขนาดความหนา จะทำให้สเตนเลสเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ส่งผลให้สเตนเลสมีความแข็งเพิ่มขึ้น
ความจริงกระบวนการรีดเย็นไม่ใช่แค่นำสเตนเลสรีดร้อนมารีดอีกครั้งเพื่อให้ได้ขนาดความหนาตามที่ต้องการเท่านั้น แต่กระบวนการรีดเย็นประกอบไปด้วยการกระบวนการหลักๆ 3 ส่วนได้แก่ การบวนการก่อนรีดเย็น คือกระบวนการอบอ่อนและกัดกรด (Annealing and pickling) ขบวนการนี้จะนำสเตนเลสรีดร้อนไปอบให้ความร้อนจากนั้นจะทำการล้างด้วยวิธีการกัดกรด ขัดถู เพื่อขจัดคราบสเกลดำๆบนผิวสเตนเลสออกให้หมด เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะได้สเตนเลสผิวสีขาว เรียกกันว่า ไว้ท์คอล์ย (white coil) และเรียกผิวชนิดนี้ว่า ผิว no.1 หรือผิว 1D
จากนั้นนำไว้ท์คอล์ยไปผ่านขั้นตอนการรีดเย็น (Cold rolling) ตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว ผลของการรีดเย็นจะทำให้สเตนเลสมีคุณสมบัติเชิงกลสูงขึ้น ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำไปขึ้นรูปหรือแปลรูปเพื่อการใช้งาน ดังนั้นหลังการรีดเย็นแล้วจึงจำเป็นต้องนำสเตนเลสไปผ่านกระบวนการอบอ่อน (Annealing process) และปรับผิว (Skin pass)เพื่อปรับคุณสมบัติเชิงกลให้ได้ตามที่ต้องการ จึงจะถือว่าได้เสร็จสิ้นกระบวนการีดเย็นอย่างสมบูรณ์แบบ
ในขั้นตอนการอบอ่อนขั้นสุดท้าย จะเป็นตัวกำหนดชนิดผิวสเตนเลส หากอบอ่อนในบรรยากาศทั่วไป ซึ่งจะทำให้สเตนเลสเกิดคราบสเกลดำที่อุณหภูมิสูง หลังอบอ่อนจะต้องกัดกรดเพื่อขจัดคราบสเกลดำเหล่านี้ออก ตามด้วยการปรับผิว ผิวที่ได้จะเรียกว่า 2B คือมีลักษณะเงาเล็กน้อย แต่หากหลังการรีดเย็นแล้วนำไปอบอ่อนในบรรยากาศที่ไม่เกิดคราบสเกลดำที่อุณหภูมิสูง เช่น อบอ่อนในบรรยากาศของก๊าซไฮโครเจน ผิวที่ได้จะเรียกว่า ผิว BA ซึ่งมีลักษณะแวววาวสวยงาม