เครน คือคานกลางที่รับน้ำหนักการยก เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการรับน้ำหนักของเครนในเชิงอยู่กับที่ เครนต้องออกแบบให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน
ในด้านความปลอดภัย และโดยทั่วไปในอุตสาหกรรมจะใช้รูปแบบเครนเป็นตัวแบ่งประเภทของเครนไฟฟ้าเหนือศีรษะตามลักษณะของเครนที่รับน้ำหนัก โดยทั่วไปประเภทของเครนไฟฟ้าเหนือศีรษะจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ เครนไฟฟ้าเหนือศีรษะแบบคานเดี่ยว และเครนไฟฟ้าเหนือศีรษะแบบคานคู่
ลักษณะของโครงสร้างเครนไฟฟ้าแบบคานเดี่ยว และแบบคานคู่จะแตกต่างกันออกไป ตามพื้นที่หน้างาน และการใช้งานของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ตามรายละเอียดต่อไปนี้
1. Overhead Cranes (Single Girder) เครนเหนือศีรษะแบบคานเดี่ยว มีความเหมาะสมใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้งานยกน้ำหนักไม่หนักมาก ซึ่งควรมีความกว้างใช้งานตั้งแต่ 6-25 เมตร และควรมีน้ำหนักยกตั้งแต่ 0.1 ตัน ถึง 12.5 ตัน เป็นมาตรฐาน
2. Overhead Cranes (Double Girder) เครนเหนือศีรษะแบบคานคู่ มีความเหมาะสมใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้งานยกน้ำหนักที่หนักมาก ซึ่งควรมีความกว้างใช้งานตั้งแต่ 10-30 เมตร และควรมีน้ำหนักยกตั้งแต่ 5 ตัน ถึง 50 ตัน เป็นมาตรฐาน
3. Gantry Cranes (Single Girder) เครนสนามขาสูง 2 ข้าง แบบคานเดี่ยว มีความเหมาะสมใช้ติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้ง และในร่มใต้หลังคาโรงงาน สำหรับโรงงานที่ไม่ได้เตรียมโครงสร้างเสาไว้เพื่อรับเครนเหนือศีรษะ ซึ่งมีความจำเป็นต้องติดตั้งเครนสนามขาสูง 2 ข้าง วางบนพื้นโรงงาน และลักษณะเช่นเดียวกับเครนเหนือศีรษะ แบบคานเดี่ยวที่มีความเหมาะสม สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้งานยกน้ำหนักไม่มากนัก ควรมีความกว้างใช้งานตั้งแต่ 6-20 เมตร และควรมีน้ำหนักยกตั้งแต่ 0.1 ตัน ถึง 12.5 ตัน เป็นมาตรฐาน
4. Gantry Cranes (Double Girder) เครนสนามขาสูง 2 ข้าง แบบคานคู่ มีความเหมาะสมใช้ติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้ง และในร่มใต้หลังคาโรงงาน สำหรับโรงงานที่ไม่ได้เตรียมโครงสร้างเสาไว้เพื่อรับเครนเหนือศีรษะ ทุกประการเช่นเดียวกับเครนสนามขาสูง 2 ข้าง แบบคานเดี่ยว และลักษณะเช่นเดียวกับเครนเหนือศีรษะแบบคานคู่ ที่มีความเหมาะสมกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้งานยกน้ำหนักที่หนักมาก ควรมีความกว้างใช้งานตั้งแต่ 10-30 เมตร และควรมีน้ำหนักยกตั้ง แต่ 5 ตัน ถึง 50 ตัน เป็นมาตรฐาน
5. Semi Gantry Cranes (Single Girder) เครนสนามขาสูงข้างเดียว แบบคานเดี่ยว มีความเหมาะสมใช้บนพื้นที่กลางแจ้ง โดยติดตั้งรางวิ่งชั้นบนไว้ที่เสาด้านข้าง-นอกตัวอาคารโรงงาน หรือใช้ติดตั้งในร่ม โดยติดตั้งรางวิ่งชั้นบนไว้ที่เสา ด้านข้าง-ในตัวอาคารโรงงาน หรือผู้ใช้งานสามารถออกแบบเครนในโรงงานเป็น 2 ระดับได้อีกด้วย โดยใช้ติดตั้งใต้ชุดเครนเหนือศีรษะเพื่อทำงานเฉพาะเครื่องจักร หรือใช้งานกับพื้นที่ในอาคารโรงงาน ด้านใดด้านหนึ่ง หรือติดตั้งไว้ทั้ง 2 ฝั่ง ของตัวอาคารโรงงานเดียวกันก็ได้
6. Semi Gantry Cranes (Double Girder) เครนสนามขาสูงข้างเดียว แบบคานคู่ มีความเหมาะสมใช้ติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้ง และในร่มภายในตัวอาคารโรงงาน มีคุณสมบัติทุกประการเช่นเดียวกันกับเครนสนามขาสูงขาเดียวแบบคานเดี่ยว และกรณีที่ต้องการออกแบบคานคู่ เพราะส่วนมากผู้ใช้งานต้องการประสิทธิภาพ ในการยกวัตถุ และสินค้าที่หนักกว่า และพื้นที่ใช้งานในพื้นที่ที่กว้างกว่า
7. Piller Jib Cranes เครนตั้งเสายื่นแขนหมุน มีความเหมาะสมใช้สำหรับงานยกวัตถุงาน หรือสินค้าเฉพาะพื้นที่รอบวงรัศมี ความยาวของวงแขนที่ยื่นหมุนของชุดเครน ซึ่งการออกแบบเครนชนิดนี้ ต้องคิดถึงความต้องการ 4 ประการ 1.ขนาดน้ำหนักที่ต้องการยกวัตถุ 2.ระยะความสูง 3.ระยะแขนยื่น 4.ระยะรัศมีของวงแขนหมุน ที่นิยมใช้กันอยู่ที่ 180, 270, 360 องศา
8. Wall Jib Cranes เครนติดผนังยื่นแขนหมุน มีความเหมาะสมใช้สำหรับงานยกวัตถุงาน หรือสินค้าเฉพาะพื้นที่รอบวงรัศมี ความยาวของวงแขนที่ยื่นหมุนของชุดคานเครนเช่นเดียวกันกับเครนตั้งเสายื่นแขนหมุน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือการใช้เสาของอาคารโรงงานเป็นตัวยึดโครงสร้าง เพื่อให้แขนหมุนเท่านั้น
9. Wall Cranes เครนติดผนังยื่นแขนยก สามารถออกแบบได้ทั้งคานเดี่ยว และแบบคานคู่ ตามความเหมาะสม ใช้สำหรับงานยกวัตถุงาน หรือสินค้าตามความยาวตลอดแนวด้านข้างผนังตัวอาคารโรงงาน ซึ่งแตกต่างกับเครนติดผนังยื่นแขนหมุนที่ สามารถทำงานได้เฉพาะบริเวณเสาที่ยึดติดเท่านั้น และมีลักษณะแตกต่างกับเครนสนามขาสูงข้างเดียว ตรงที่เครนสนามขาสูงข้างเดียว มีขาเครนข้างหนึ่งวิ่งบนรางด้านบนติดกับเสาโรงงาน แต่เครนติดผนังนั้นมีชุดขาเครน 3 ขา 6 ล้อ วิ่งอยู่บนราง 2 ชั้น โดยชุดขาเครนทั้งหมดติดตั้งไว้ที่รางวิ่งทั้ง 2 ชั้นติดตั้งกับเสาข้างผนังโรงงาน และชุดขาเครนยื่นตัวออกมาอิสระเพื่อยกวัตถุหรือสินค้า ซึ่งการใช้งานยกสินค้าตลอดแนวด้านข้างของโรงงาน
10. Underhung Cranes เครนเหนือศีรษะแขวนวิ่งใต้ราง สามารถออกแบบสร้างได้ทั้งแบบคานเดี่ยว และแบบคานคู่ ตามความเหมาะสมด้านการใช้งานเกี่ยวกับการยกน้ำหนัก และความกว้างในตัวอาคารโรงงาน ดังที่ได้กล่าวอธิบายไว้แล้วในส่วนของเครนเหนือศีรษะ ที่วิ่งด้านบนรางวิ่ง เครนลักษณะนี้ มีความเหมาะสมใช้กับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมบางอย่าง ที่ต้องการใช้งานพื้นที่ด้านล่างกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นอาคารโรงจอดซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ หรือโรงงานสร้างเรือยอร์ชในร่ม และโรงงานประกอบชิ้นส่วนโครงสร้างที่มีความกว้างยาวใหญ่โตเพื่อใช้งานยกชิ้นส่วนประกอบติดตั้งเป็นชิ้นๆไป