อุตสาหกรรมหนักนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักเป็นตัวบ่งชี้ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน เครนไฟฟ้าเหนือศีรษะเป็นเครื่องจักรกลชนิดหนึ่งที่มีบทบาทอย่างยิ่ง และเพิ่มปริมาณการใช้เติบโตควบคู่มากับอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมหนักของประเทศ อาทิเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ (Material Handing) ในการทำงานสำหรับการเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ภายในสายงานการผลิตของโรงงาน
เครนไฟฟ้าเหนือศีรษะ เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุที่มีบทบาทที่สำคัญซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ
1. รอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ไว้สำหรับยกน้ำหนัก
2. ชุดคานล้อ (End Carriage) มีหน้าที่ขับเคลื่อนชุดเครนบนรางวิ่งตามแนวยาว (Runway Beam) ของโรงงาน
การเคลื่อนที่ของเครนโดยทั่วไปจะแบ่งการเคลื่อนที่ได้เป็น 6 ทิศทาง คือ การเคลื่อนที่เพื่อยกของในทิศทางขึ้นการวางของในทิศทางลง การเคลื่อนที่เพื่อย้ายของในทิศทางซ้ายและขวาของอาคารโรงงาน รวมทั้งการเคลื่อนที่เพื่อย้ายในแนวทิศทางหน้า และหลังของอาคารโรงงาน โดยการเคลื่อนที่ทุกทิศทางล้วนใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนทั้งสิ้น
เครนไฟฟ้าเหนือศีรษะถูกควบคุมโดยชุดปุ่มกดที่มีสายไฟต่อกับชุดมอเตอร์ขับเครน หรือ โดยวิทยุควบคุมพนักงานที่มีประสบการณ์สามารถเคลื่อนย้ายเครนไปยังตำแหน่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำโดยใช้สัญญาณจากชุดอุปกรณ์ควบคุมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
โครงสร้างเครน (Crane Structure) เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบเครนที่มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากต้องรับน้ำหนักในภาวะที่เครนอยู่กับที่ (Static Load) และรับน้ำหนักในภาวะที่เครนมีการเคลื่อนที่ (Dynamic Load) โครงสร้างเครนจะประกอบไปด้วยเครน (Crane Bridge or Girder) คานล้อขับเคลื่อนเครน (End Truck or End Carriage) และโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง